top of page

ประวัติบ้านนาแก ตำบลนาแก อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร 35180

ส่วนที่  1

ประวัติของหมู่บ้านนาแก หมู่ที่ 1       

 

ตอนที่ 1  แรกเริ่มอพยพ

 

š  ประวัติเดิมอพยพมาจากเมืองน้ำเนาจำปาศักดิ์  หลวงพระบาง เวียงจันทร์       สวรรณเขต  เพราะถูกจีนและทิเบตเขาแย่งชิงอำนาจพวกเราไม่สามารถจะต่อสู้  รุกรานเข้าไปเรื่อยจึงได้พากันอพยพข้ามแม่น้ำโขงมาฝั่งไทยด้วยเรือและแพไม้ไผ่พอมาถึงฝั่งไทยสมัยนั้นเกวียนก็ไม่มี  รถก็ไม่มี  อาศัยกำลังของตนเองเป็นพาหนะพากันหาบพากันหามสิ่งของเดินตามทางขึ้นเขาลงห้วยด้วยความเหน็ดเหนื่อย  ทางเดินก็ไม่สะดวกเหมือนทุกวันนี้ 

 

ตอนที่ 2  ตั้งถิ่นฐาน

 

š การเดินทางใช้ความมานะอดทนจนถึงจุดที่หมายที่เมืองหนองบัวหลุบภู  ก็พากันไปจอดที่นั่นเป็นห่อมภู แต่เป็นป่าทึบดงหนามีสัตว์ป่านานาชนิดไปอาศัยอยู่ที่นั่น  พากันสร้างเหย้าเรือนพอได้อาศัยอยู่ในหลุบภู  ที่นั้นเป็นที่นาก็มีน้อยถึงฤดูทำนาที่นาก็แย่งกันได้คนละเล็กละน้อยอาศัยทำไร่ปลูกข้าวและปลูกพืชนานาชนิด  ถึงฤดูข้าวผลิดอกออกผลก็มีสัตว์ป่าอาทิเช่น  หมูป่า  ช้าง  มาทำลาย  ปลูกฟักแฟงแตงโมถั่วงาก็มีสัตว์มาทำลายเหมือนกัน  ทำนาทำไร่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร  อยู่กินกันแบบอด ๆ  อยาก ๆ  เลี้ยงหมา  เป็ด ไก่  วัว  ควาย  ก็ได้ทำดอกไม้  เรียนลำตอนกลางคืน หมาก็ได้เอาขึ้นนอนบนเรือน  เถียงนาปลูกขึ้น ช้างก็มาทำลายหมดไม่สามารถจะต่อสู้กับสัตว์ป่าได้นับแต่วันจะจนลงทุกที  มาอาศัยอยู่ที่นี่ประมาณ 3 ปี  เห็นว่าความสุขไม่มี มีแต่จะจนลงทุกที  อีกพวกหนึ่งก็พากันล่องแพและเรือไปตามลำน้ำโขงพอไปถึงปากน้ำมูลไหลตกก็พากันถ่อแพและเรือขึ้นไปตามลำน้ำมูลพอไปถึงท่าบ้านแก้ง บ้านส้มป่อยก็พากันจอดพักที่นั่นเพราะว่าที่นั่นเป็นที่ว่างเปล่าที่นาก็พอหาได้ ปู ปลา กบ เขียดก็อุดมสมบูรณ์  ปลาก็อาศัยหากินตามลำน้ำมูล  นาก็เป็นนาทามนาโคกก็มี  พอไปสำรวจแล้วเห็นสมควรก็พากันย้ายไปอยู่บ้านแก้งก็มี  บ้านส้มป่อยก็มี  บ้านเป้าก็มี  แล้วแต่ความสมัครใจแต่ละครอบครัว  พวกอยู่เมืองหนองบัวก็ได้ข่าวว่าพวกไปอยู่บ้านแก้ง  บ้านส้มป่อย  และบ้านเป้าไม่อดข้าว  ที่นาก็พอหาได้อุดมสมบูรณ์ดี  ก็พากันอพยพจากเมืองหนองบัวมาอยู่จังหวัดศรีษะเกษ ก็มาอยู่ด้วยกัน  การอพยพสมัยนั้นก็ลำบากมาก  รถ เกวียนก็ไม่มีจะเดินทางเท้าก็กลัวสัตว์ป่าก็พากันลงแพและเรือล่องตามลำโขงมาเหมือนกัน  พอมาถึงจุดที่หมายก็มีพี่น้องต้อนรับพากันแยกย้ายกันไปพักบ้านพี่เมืองน้องไปก่อน  พี่น้องก็พาไปหาที่ปลูกบ้านและที่นา ที่นาก็เป็นนาทามมูลบางปีก็น้ำท่วมที่นาโคกน้ำไม่ท่วมพวกมาก่อนเขาเอาหมดอยู่มาประมาณ20  ปี

 

 

ตอนที่ 3  หาที่ตั้งถิ่นฐานใหม่

 

š  หลังจากการตั้งถิ่นฐานได้  20  ปี  การทำนาก็ไม่ค่อยพออยู่พอกินมีฝนดีน้ำท่วมทุกปี  เพราะเราไปอยู่ที่หลังเขาที่ที่ดีๆ  เขาก็เอาหมด  ครอบครัวเพิ่มมากขึ้นการหากินและการทำนาก็ไม่เหมาะสมประสบแต่น้ำท่วม  เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะทนอยู่ไม่ไหว  ลูกหลานเกิดมาทุกวันจะให้เขากินอะไร  พวกพ่อตา  แม่ยายไปปรึกษากันกับญาครูที่วัดตอนไปจังหันเลยตกลงกันว่าทางจังหวัดอุบลระหว่างอำเภอเขื่อนในต่อเขตอำเภอลุมพุกมีที่ดินว่างเปล่ามาก กุลาเขามาขายของเล่าให้ฟัง  เมื่อพูดกันตกลงกันแล้ว  ญาครูเห็นดีว่าเอาตาไปดูเสียก่อนหูรู้ไม่เท่าตาเห็น  เมื่อเห็นดีกันแล้วก็เตรียมอุปกรณ์สิ่งของ  เสื้อผ้า  ข้าวสาร  หม้อข้าว  วันพรุ่งนี้เราต้องออกเดินทางด้วยช้าง 3  เชือกพอถึงวันรุ่งขึ้นก็พากันเก็บของขึ้นบนหลังช้างมาด้วยกัน 7  คน  พระ 2  โยม 5  สมัยนั้นรถก็ไม่มีจะเดินด้วยเท้าก็ลำบาก  บ้านก็ห่างป่าดงรกสัตว์ป่าก็มีมาก  กลัวอันตรายมีมาก พอมาถึงบ้านบึงแกก็เลยขอพักอาศัยญาครูก็ไปอาศัยที่วัด  พวกโยมก็อาศัยนอนศาลาวัด  ตื่นเข้าก็เตรียมหุงข้าวสว่างมาเดินทาง  พระก็ไปฉันข้าวเช้าข้างหน้าเพราะระยะทางไกล  เมื่อมาถึงจุดที่หมายก็พากันขี่ช้างไปดูอาณาเขตลำเซบายห้วยเหล็กเปียก  ห้วยบ่อแก  ห้วยเหมืองแค้  หนองก็มีมาก  สัตว์ป่าก็มีมากวาง  ฟาน เห็นกระต่าย  กระแต  ลิง  ค่าง  ชะนี  ประเภทนกก็มีทุกชนิด  ป่าดงที่ทำนาทำไร่ก็มีมากมายสมบูรณ์มีครบหมดทุกอย่าง  ขี่ช้างดูอาณาเขตเป็นเวลา 7  วัน  ได้พากันมาปรึกษาหาที่ปลูกบ้าน  ที่วัด  ที่นา  ที่หากินหมายความว่าคุณปู่คุณตา  คุณครูบาอาจารย์  เป็นผู้หูยาวตายาวเมื่อทั้ง 7 คนได้เห็นด้วยหูด้วยตาลงมติกันแล้วก็พากันกลับบ้านด้วยช้างเป็นพาหนะ  รวมไปกลับเป็นเวลา 8  คืน 9  วัน  แต่ละวันกลับมานอนบ้านบึงแก  ตื่นเช้าออกเดินทางแต่เช้าทุกวัน  พอกลับไปถึงบ้านก็ไปเล่าสู่ชาวบ้านฟังว่าเอาตาไปดูแล้วทุกคนว่าพอใจ  เป็นที่ทำนาทำเลเลี้ยงสัตว์ป่าดง ปู ปลา กบ เขียดอุดมสมบูรณ์ดีทุกอย่าง  ห้วยหนอง  ลำเซมีมากมาย  หนองน้ำไม่ต่ำกว่า 30  แห่ง  เมื่อเล่าความเป็นไปให้ชาวบ้านฟังแล้วผู้ที่อพยพแท้มี 7  ครอบครัว คือ 1)  พ่อใหญ่โคตร  หลักธรรม  2)  พ่อใหญ่อาจารย์พิมพ์  3)  แม่ใหญ่อินทร์  4)  พ่อใหญ่พินิตร์  5)  พ่อใหญ่ชาพระวงค์  6)  พ่อใหญ่ชนะวงค์  7)  พ่อใหญ่ศรีมงคุล  ฝ่ายพระก็มี 1)  ญาครูเวียง  2)  ญาครูท้าว  3)  ญาครูเทพ  เมื่อตกลงว่าจะอพยพก็พากันประกาศขายนา  บ้านเรือน  วัวควายเหลือแต่สิ่งของที่จำเป็นเมื่อขายสิ่งของหมด  ก็พากันจัดเตรียมสิ่งของเครื่องอุปกรณ์ทุกอย่างพร้อมหมดทุกคนแล้ว  สมัยนั้นเกวียนก็ไม่มี  รถก็ไม่มี  การเดินทางใช้ช้างเป็นพาหนะ  ช้างพวกอพยพมีช้าง 3  เชือก 1)  ช้างพ่อใหญ่โคต  หลักธรรม  2)  ช้างพ่อใหญ่ศรีมงคุล  3)  ช้างพ่อใหญ่พินิตร์  ก็หาช้างเพิ่มอีก 3  เชือก  รวมเป็น 6  เชือก 

 

ตอนที่ 4  ก่อตั้งหมู่บ้าน

 

š  เมื่อได้ฤกษ์ได้ยามดีแล้ว  ก็พากันขนของขึ้นบนหลังช้าง  ของหนักเอาขึ้นหลังช้าง  ของเบาก็พากันหาบขนไปลงเรือลงแพพร้อมหมดทุกอย่างพวกหนึ่งขึ้นบนหลังช้าง  พวกหนึ่งก็พากันล่องเรือมาตามลำน้ำมูลพอมาถึงปากน้ำชีก็เลี้ยวเรือขึ้นตามลำน้ำชี  ล่องเรือล่องแพมาเรื่อย ๆ  จนมาถึงบ้านเหมือดบัวขาว  บ้านท่าก็มาจอดเรือที่นั่น  พวกช้างก็มาถึงบ้านบึงแกก่อนก็มาพักรอกันอยู่ที่นั่น  พอพวกเรือมาถึงพวกช้างก็พากันไปช่วยขนของมาพักที่บ้านบึงแกมานอนพักที่นั่นสองคืน  ตื่นเช้าพวกช้างขนสิ่งของขึ้นหลังช้างออกเดินทางมาถึงจุดที่หมายคือหนองน้ำนี้อยู่กลางดงอยู่ทางทิศใต้  หนองสิมอยู่ครึ่งกลางเขตแดนตำบลดงแคนใหญ่  กับตำบลนาแกปัจจุบัน  เขาเรียกหนองบ้านแก  พวกช้างก็เก็บของมาลงจุดนั้นช้างไปขนของมาจากบ้านบึงแกสองเที่ยว  ส่วนคนและของพวกเรือนำส่งก็พากันกลับคืนบ้านช้างสามเชือกนำส่งก็กลับคืนบ้านเหมือนกัน  เหลือช้าง 3  เชือกเท่านั้น  ที่ได้มาพักหนองแก  มีหนองแฝกอยู่ใกล้กัน  พอได้อาศัยทำตูบหลบฟ้าหลบฝน  ก็พากันไปเกี่ยวหญ้าแฝกมา จ่ามและไพ  พอได้มุงเป็นที่อาศัยชั่วคราวมาพักอยู่ที่นั้นประมาณหนึ่งเดือน  กลางวันก็พากันขี่ช้างไปหาเกี่ยวหญ้าแฝกหญ้าคา  กลางคืนก็พากันไพเมื่อได้หญ้าพอสมควรก็พากันไปถากถางที่ปลูกบ้าน  เริ่มแรกพากันมาปลูกเรือนอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้วัดเก่า  ทางตะวันตกป่าโพธิ์ปัจจุบันนี้  เริ่มแรกมีเจ็ดหลังคาเรือน  ส่วนพระก็มาอาศัยอยู่ดอนป่าโพธิ์ทางทิศใต้วัดเก่า  ต่อมาสามญาครูก็พากันพิจารณาหาที่ปลูกกุฏิก็พากันวางแปลนและปักเขตแดนไว้เป็นที่กว้างขวาง  ท่านก็ขอร้องชาวบ้านมาถากถางแล้วทำกุฏิสำรองไว้หนึ่งหลัง  ต่อมาปีที่ 3  ก็พาชาวบ้านสร้างกุฏิสมบูรณ์ขึ้นหนึ่งหลัง  พอสร้างกุฏิเสร็จโยมบ้านกู่จานมานิมนต์ญาครูเทพไปเป็นเจ้าอาวาส  ต่อมาอีกประมาณหนึ่งเดือน  โยมบ้านดงแคนใหญ่ขาดเจ้าอาวาสมานิมนต์เอาญาครูท้าวไปเป็นเจ้าอาวาสอีก  ทีแรกญาครูก็พักที่ดอนป่าโพธิ์ท่านก็พากันปลูกกุฏิที่แน่นอนก็ทิศเหนือป่าโพธิ์เป็นเนื้อที่ประมาณ 50  ไร่  อยู่ต่อมาก็มีพวกอพยพครอบครัวมาจากบ้านแก้ง  บ้านส้มป่อยมูล  และชาวบ้านเป้ามาอยู่ทางทิศตะวันตกวัด แต่เป็นทิศเหนือของผู้อยู่ก่อน  ก็เพิ่มหลังคาเรือนมากขึ้นต่อมาพวกที่อยู่ทางทิศใต้ได้รับความเดือดร้อน  เมื่อเวลาฝนตกลงมาน้ำสกปรกก็ไหลลงมาผ่านหน้าบ้านพวกอยู่ก่อนเป็นการไม่เหมาะสมก็เลยพากันเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ทางทิศเหนือวัด ทางครอบครัวชาวบ้านก็มากขึ้นมาเรื่อย ๆ  จนหลังคามีจำนวน 360  หลังคาเรือน  แบ่งเป็น 4  คุ้ม  1)  คุ้มวัดใน  2)  คุ้มวัดนอก  3)  คุ้มบ้านเค็ง  4)  คุ้มบ้านเหล่าคา  มีผู้ใหญ่บ้าน 3  คน  วัดก็สร้างขึ้น 2  วัด  วัดนอก  กับวัดใน  วัดแรกอยู่ทิศตะวันตก  อีกวัดหนึ่งอยู่ทิศตะวันออกบ้านเรียกว่าวัดนอก  ชาวบ้านสามัคคีกันดีวันในได้สร้างกุฏิขึ้น 2 หลัง  กุฏิใต้กุฏิเหนือ  ศาลาการเปรียญ 1 หลัง  หอโปง (หอระฆัง)  หนึ่งหลัง  หอกลองหนึ่งหลังและสร้างโบสถ์หนึ่งหลัง  เมื่อสร้างเสร็จพระเณรก็แยกย้ายกันอยู่แล้วแต่ความสมัครใจ  วัดในยาครูเวียงเป็นเจ้าอาวาส  วัดนอกยาครูศรีสมุทรเป็นเจ้าอาวาสก็พากันสร้างขึ้นแต่เป็นโบสถ์ขนาดเล็กบางปีมีนาคบวชมากทำให้คับแคบบรรจุพระได้น้อยแต่สมัยก่อนหลังค่าโบสถ์หลังกุฏินิยมตอกไม้กระดานมีมุงเป็นหลังคาการเปรียญอยู่มายาครูพาพร้อมด้วยพระเณรและชาวบ้านก็สร้างโบสถ์หลังใหม่ขึ้นเพราะโบสถ์

หลังเก่าเป็นโบสถ์ขนาดเล็กบรรจุพระได้น้อยเลยพากันมาปั้นเอาดินที่นาแม่ใหญ่แหล้  อุทิศให้เป็นเนื้อดินกว้าง 10  วา  ยาวประมาณ 15  วา  ก็พาชาวบ้านพร้อมด้วยพระเณรไปขุดเอาดินที่นั้นมาปั้นอิฐเตาเผาก็เผาที่นั่น  เมื่อปั้นดินอิฐมากแล้วคาดว่าคงพอก็พากันรื้อโบสถ์เก่าออกแล้วก็พากันก่อใหม่ขึ้นที่เดิมขยายออกให้กว้างกว่าเดิมเป็นโบสถ์ขนาดกลาง ไปตัดเอาไม่ดอนปู่ตามาเลื่อยพอแล้วก็พากันทำพิธียกเป็นตัวโบสถ์ขึ้นใช้ไม้แคนเป็นเครื่องบนหลังคาข้างล่างก่อด้วยอิฐสร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2466 

                                                   

ตอนที่ 5  บ้านแตก (พ.ศ.2472)

 

š  พอเริ่มสร้างโบสถ์ขึ้นบ้านเมืองก็เริ่มป่วยด้วยไข้มาลาเลีย  ครั้งแรกชาวบ้านและทางวัดก็ไข้สาเหตุก็ชาวบ้านนาแกได้ลงมติกันไว้ว่าไม้ดอนปู่ตาห้ามมิให้พากันไปตัดฟันเป็นเด็ดขาดได้ทำสัญญาไว้ทั้งดอนสงนางน้อยและดอนสงนางใหญ่แต่ชาวบ้านนาแกลืมสัญญาพากันไปตัดฟันเมื่อไปตัดไม้ขาดแล้วก็เป็นเรื่องประหลาดคือ  ตัดไม้ขาดแล้วแต่ไม้ก็ไม่ยอมล้มลง  ก็เลยให้เฒ่าจ้ำแต่งขันธ์ 5  ไปคารวะร้องขอว่าจะเอาไปทำโบสถ์เฒ่าแก่พร้อมบ้านพร้อมเมืองไปขอขมาโทษไม้ก็ล้มลงก็พากันไปเลื่อยจนเสร็จเอามาทำระแนงจนพอหลังคาต่อมาไม้ที่เหลือก็พากันขนไปไว้ในวัดบ้านเมืองก็พากันล้มป่วยไข้มากขึ้นพระเณรทั้งวัดก็ไข้กันงอมแงมกันไปหมดไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไรชาวบ้านก็ประชุมกันว่าไปหาหมอวิชามาเสี่ยงทาย  หมอเขาบอกว่าเพราะไปตัดได้ดอนปู่ตาให้เอาไม้ไปคืนเสียและปลูกทดแทนไม้ที่เหลือก็พากันเอาไปส่งคืนบ้านเมืองก็ยิ่งป่วยหนักขึ้นทุกทีบางหมอก็ทายว่าวัดหามบ้านถ้าไม่รื้อถอนมารวมกันบ้านเมืองก็จะไม่ปกติ  ก็พากันรื้อวัดนอกมารวมเป็นวัดเดียวกัน  แต่อาการป่วยไข้ก็กำเริบไข้กันแทบหมดทุกเฮือน (ครัวเรือน)  ระยะนั้นนายเฟบ  บุญห่อเป็นผู้ใหญ่บ้าน  ทางบ้านก็ตายทางวัดก็ตาย  ตายวันละ 2 - 5  คน  เห็นท่าทีจะไม่ไหวผู้ใหญ่บ้านก็ประชุมชาวบ้านให้พากันย้ายออกเสียก่อน (ย้ายหมู่บ้าน)  ไม่มีท่าทีจะดีขึ้นผีปอบผีป่าก็มีมากไล่ปอบกันตลอดวันตลอดคืนผู้ตายมากขึ้นจนจะไม่มีคนหามกันไปทิ้ง  ตกลงก็พากันย้ายไปอยู่บ้านหนองตุกหลุก  บ้านม่วง  บ้านบ๋า  บ้านน้อย  ย้ายไปอยู่ตามทุ่งนา  ย้ายไปบ้านใหม่ไปอยู่จังหวัดบุรีรัมย์  จังหวัดอุดรธานี  จังหวัดสกนคร  ฉะนั้นรวมคนผู้ใหญ่และเด็ก 227  คน  พระเณร 7  คน  วัดก็ย้ายมาอยู่วัดปัจจุบันนี้  พวกมาอยู่บ้านบ๋าก็ย้ายไปอยู่บ้านหนองตะบาง  ส่วนพระอยู่บ้านบ๋าตามเดิม  สวนยาครูพาพร้อมด้วยครอบครัวและปู่แพง (ชื่อเล่นเฒ่าหลวงปาน)  ครอบครัวอื่นก็มาท่านก็ย้ายไปอยู่อำเภอสว่างแดนดิน  บ้านโคกศรีลา  จังหวัดสกนคร  ไปอยู่ที่นั่นก็ตั้งให้เป็นอุปัชฌาย์  ท่านสร้างวัดและโบสถ์จนสำเร็จ  เมื่อท่านมรณภาพไปก็ตั้งอุปัชฌาย์ชาลีเป็นผู้แทนท่านย้ายไปอยู่ที่โน่นก็อุดมสมบูรณ์ดี

 

ตอนที่ 6  ประวัติบ้านนาแกเริ่มใหม่ (พ.ศ.2478)

 

š  สมัยนั้นพอบ้านนาแกได้เป็นบ้านแตกพากันอพยพหนีหมด  ปล่อยให้บ้านนาแกเดิมเป็นบ้านร้างเสียแล้วเกรงว่าเป็นเพราะภูตผีปีศาจและไข้มาลาเรียมาทำร้ายบ้านเมืองเวลานั้นท่านกำลังบวชเป็นพระอาจารย์ลีอยู่ท่านก็ได้มาปรึกษาญาติโยมว่าอาตมาจะไปจำพรรษาที่วัดบ้านคูขาด  เพราะความเป็นห่วงญาติโยมประสบภัยอันตรายน่าวิตกมากล้มตายไปมิใช่น้อย  ท่านก็ตัดสินใจไปเรียนวิชาอาคมจากอุปัชฌาย์ศรีบ้านคูขาด  ท่านไปเรียนอยู่ได้หนึ่งพรรษาเศษท่านก็สอนศิษย์ให้หมดทุกอย่างพอจะปกครองบ้านเมืองได้ท่านก็ลาท่านอาจารย์กลับบ้านพอมาถึงบ้านท่านก็มาประชุมชาวบ้านว่าจะพาชาวบ้านกลับคืนถิ่นฐานเดิม  ชาวบ้านก็เห็นพร้อมด้วยทุกครอบครัวท่านก็พาชาวบ้านทำพิธีนิมนต์พระมาเก้ารูปมาสูตรถอดและทำบุญหาปริสาท (ปีศาจ)  ที่มาทำร้ายบ้านเมืองอุทิศส่วนกุศลไปให้ทำพิธีหว่านแหหว่านทรายรอบบริเวณบ้านแล้วทำพิธีฝังบือเมือง  ปักเขตบ้านสี่ทิศเฝือหญ้าคากางรอบหมู่บ้านพอเสร็จแล้วก็ฝังบือบ้านแล้วก็ประกาศให้แขกไปไทยมามิให้มาเดินผ่านหมู่บ้านเป็นเด็ดขาดมีกำหนดสามวัน  ท่านได้จัดเวรยามรักษาทุกเส้นทาง  เมื่อครบสามวันแล้วท่านเปิดให้ประชาชนคนสัญจรไปมาได้ตามสบาย  ท่านก็พาชาวบ้านอพยพมาอยู่ตามความชอบใจคนที่ 1  คือนายเทพ บุญห่อ  คนที่ 2 ครอบครัวนายลี  ฝอฝน  คนที่ 3  นายดี  ทองใบ  คนที่ 4  นายจันทร์  ผาสุก  ต่อมาคนที่ 5  นายผง  สายสิงห์  คนที่ 6  นายวัน  วงเวียน  นอกจากนี้ก็พากันอพยพมาจนหมดทุกครอบครัว  ท่านอาจารย์ลีเป็นคนฝีมือดีเป็นนักพัฒนาจัดทำชาลีขึ้นสำหรับขนไม้พาชาวบ้านไปรื้อกุฏิและศาลาการเปรียญ  หอกลองมาปลูกขึ้นที่บ้านนาแกปัจจุบัน  บ้านเมืองก็เพิ่มหลังคาเรือนมากขึ้นจนมีครอบครัว 86  ครอบครัว  กุฏิและศาลาการเปรียญก็ชำรุดทรุดโทรม  ชาวบ้านนาแกใหม่ก็พากันรื้อถอนสร้างขึ้นใหม่อาทิเช่น  ศาลาการเปรียญ  กุฏิ  โบสถ์  ห้องครัว  ห้องส้วม  ซุ้มประตูเข้าวัด  กุฏิเพิ่มใหม่อีกสองหลัง  ทุกวันนี้กำลังพัฒนาไปเรื่อย ๆ  ครอบครัวก็เพิ่มทุกปีบ้านเมืองก็อุดมสมบูรณ์ดีทุกครอบครัว

bottom of page